เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 1.กุสชาดก (531)
[80] ในสงครามสำคัญครั้งนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ทรงมีพระหฤทัยร่าเริงชื่นชมยินดี
จึงได้พระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์ดวงหนึ่งแด่พระเจ้ากุสะ
[81] พระราชาพระองค์นั้นครั้นทรงชนะสงครามนั้นแล้ว
ได้รับพระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์
ประทับบนคอช้าง เสด็จเลียบบุรีนคร
[82] ทรงจับเป็นกษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์ แล้วทรงพันธนาการ
ให้น้อมนำเข้าไปถวายต่อพระสัสสุระ (พ่อตา) ด้วยพระดำรัสว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์
[83] พวกศัตรูทั้งหมดที่จะกำจัดพระองค์
ก็ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว
ขอพระองค์ทรงทำตามพระประสงค์เถิด
จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้นก็ตามพระทัยเถิด
(พระเจ้ามัททะตรัสว่า)
[84] กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ต่างหาก
มิใช่เป็นศัตรูของหม่อมฉันเลย
ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน
จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้น
ก็ตามพระทัยเถิด
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[85] พระธิดาทั้ง 7 ของพระองค์เหล่านี้ ทรงเลอโฉม
อุปมาดังเทพกัญญา ขอพระองค์โปรดพระราชทาน
พระราชธิดาแต่ละพระองค์แด่กษัตริย์เหล่านั้น
ขอกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นพระราชบุตรเขยของพระองค์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :69 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [20.สัตตตินิบาต] 1.กุสชาดก (531)
(พระเจ้ามัททะตรัสกับพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า)
[86] ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน
กว่าธิดาของหม่อมฉันเหล่านั้น และกว่าหม่อมฉันทั้งปวง
ขอพระองค์ทรงพระราชทานธิดาทั้งหลายของหม่อมฉัน
แด่กษัตริย์เหล่านั้นตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[87] ในกาลนั้น พระเจ้ากุสะ
ผู้ทรงมีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์
ได้พระราชทานพระธิดาของพระเจ้ามัททะ
แด่กษัตริย์เหล่านั้นพระนางละองค์
[88] กษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์ต่างพากันเอิบอิ่มพระทัย
ด้วยการได้นั้น ทรงมีพระทัยยินดีในพระเจ้ากุสะ
ผู้มีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์
ต่างฝ่ายต่างเสด็จกลับสู่แคว้นของตนทันที
[89] ส่วนพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล
ทรงพาเจ้าหญิงประภาวดีและแก้วมณี
อันไพโรจน์งดงามเสด็จกลับยังกรุงกุสาวดี
[90] เมื่อพระราชาและพระราชเทวีทั้ง 2 พระองค์นั้น
เสด็จไปในราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้าไปยังกรุงกุสาวดี
ทรงมีพระฉวีวรรณและพระรูปโฉมทัดเทียมกัน
มิได้ทรงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่ากันและกันเลย
[91] ในกาลนั้น พระราชมารดาได้ทรงพบ
พระราชบุตรและพระชายา
พระบิดาและพระโอรสทั้ง 2 พระองค์นั้นทรงสมัครสมานกัน
ครอบครองแผ่นดินกุสาวดีให้รุ่งเรืองแผ่ไพศาลสืบมา
กุสชาดกที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :70 }